ผู้คิดค้นสายอากาศยากิ
ฮิเดจึกึ ยากิ หรือ ชินทาโร อูดะ
สายอากาศยากิ เรียกได้ว่าเป็นสายอากาศทิศทางที่มีคนรู้จักมากที่สุด มีการพัฒนาจนมีรูปแบบต่างๆ อีกมากมาย
เมื่อเฝ้าดูสายอากาศยากิ ก็นึกอยากถามตัวเองว่า เขาคิดขึ้นมาได้ยังไง
สายอากาศชนิดนี้ มีชื่อเต็มว่า ยากิอูดะ ได้ชื่อตามนักฟิสิกส์ 2 คน คือ โปรเฟสเซอร์ ฮิเดจึกึ ยากิ และ
โปรเฟสเซอร์ ชินทาโร อูดะ
การออกเสียงตัว “จึกึ” ต้องเอาฟันบนกับฟันล่างแตะกัน เอาลิ้นอุดไว้ข้างหลัง แล้วกระดกลิ้นนิดนึงให้ลมดันออกมาเป็นเสียงจึระหว่างฟันทั้งสองที่เผยอขึ้นนิดๆ นั่นแล ท่านจะได้เสียง tsu ที่ใกล้เคียง
การคิดค้นสายอากาศยากิ นับว่าเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อมนุษยชาติ ทั้งพวกที่มีคลื่นวิทยุเต็มสมองอย่างพวกเราทั้งหนุ่มสาววัยอ่อนที่มีเบอร์โทรศัพท์เต็มสมอง เวลาออกต่างจังหวัด ก็จะเห็นสายอากาศทีวีแบบยากิบนหลังคาแทบทุกบ้านทั้งใช้ทำเรดาร์ ใช้สื่อสาร และควบคุมการทำงานจากระยะไกล เช่นกับดาวเทียม เป็นต้น
สายอากาศยากิ จริงๆ แล้ว ก็คือการจัดสายอากาศไดโพลธรรมดาๆ เอามาเรียงแบบขนานกันโดยให้มีสายอากาศไดโพลที่ยาวกว่าหน่อยนึงไว้ด้านหลังให้เป็นตัวสะท้อนคลื่น เรียกว่ารีเฟล็กเตอร์และอีกต้นที่สั้นกว่าหน่อยนึงวางไว้ข้างหน้าเพื่อนำทิศทางของรูปแบบกระจายคลื่น เรียกว่าไดเร็กเตอร์ ส่วนเส้นที่เป็นตัวจริงเรียกว่าดริเวนอิเลเมนต์
โลกตะวันตกรู้จักแนวคิดนี้ในผลงานที่โปรเฟสเซอร์ผู้นี้จากการแปลบทความเกี่ยวกับผลงานของท่านจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งก็เลยเรียกว่า สายอากาศของยากิ ไปๆ มาๆ เลยกลายเป็นสายอากาศยากิไปเลย
สมัยนี้ เราจะเห็นสายอากาศยากิ มีดริเวนและรีเฟล็กเตอร์อย่างละเส้น มีไดเร็กเตอร์หลายๆ เส้น แต่ละเส้นจะมีความยาวต่างจากดริเวนอิเลเมนต์นิดหน่อย (ประมาณ 1/10 ของความยาวคลื่น)
เป็นสายอากาศที่มีความไวมาก และมีความเป็นทิศทางอย่างมาก ถือว่าเป็นผลงานการค้นคิดด้านสายอากาศที่ยอดเยี่ยมที่สุด ชิ้นล่าสุดของโลก จดลิขสิทธิ์เมื่อ พ.ศ.2483 (หมายเลขลิขสิทธิ์ 669115)
โปรเฟสเซอร์ ฮิเดจึกึ ยากิ เกิดที่เมืองโอซาก้า เมื่อ พ.ศ.2429 นับถึงวันนี้ก็ 115 ปีพอดี จบวิศวกรรม อิเล็กทรอนิกส์ที่มหาวิทยาลัยโตเกียวอิมพีเรียล แล้วไปเรียนต่อที่อังกฤษ อเมริกา และที่เยอรมัน
ที่เยอรมันนี้เองที่ยากิหันมาสนใจศึกษาค้นคว้าด้านการกำเนิดคลื่นวิทยุเพื่อการสื่อสาร และได้ทุ่มเทศึกษาเรื่องนี้ตลอดชีวิต
เขากลับมาเป็นอาจารย์สอนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยที่จบมา ในขณะเดียวกันก็เรียนไปด้วยจนจบปริญญาเอก
เขาเห็นว่า การสื่อสารด้วยคลื่นวิทยุนั้นจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง จึงได้ศึกษาค้นคว้าทางด้านนี้อย่างเอาจริงเอาจัง และได้เขียนบทความและผลการทดลองออกมาอย่างนับไม่ถ้วน
เขาคิดทฤษฎีว่าด้วยทิศทางของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและได้ทดลองทำสายอากาศเพื่อพิสูจน์ทฤษฎี
ผลการทดลองเมื่อ 61 ปีก่อนนั้น ก็คือสายอากาศยากิที่เราคุ้นเคยกันอยู่นี่เอง
มีเอกสารบางฉบับบอกว่าจริงๆ แล้วผลงานนี้ไม่ใช่ของศาสตราจารย์ ดร.ยากิหรอก แต่เป็นของศาสตราจารย์ ดร.อูดะ ซึ่งเป็นผู้ช่วยของดร.ยากิต่างหาก แต่เวลาที่ผ่านไป ก็ไม่เห็น ดร.อูดะ ประท้วงหรือแสดงอาการอิจฉาในชื่อเสียงของ ดร.ยากิ เลยในขณะเดียวกัน ดร. ยากิ ก็เลื่อนตำแหน่งขึ้นมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยโตเกียวอิมพีเรียลนั่นเอง
ในปีพ.ศ. 2494 ศาสตราจารย์ ฮิเดจึกึ ยากิ ก็ได้รับรางวัลเกียรติยศโบว์สีน้ำเงิน ต่อมาในปี พ.ศ.2499 เขาก็ได้รับรางวัลวัฒนธรรม
พ.ศ.2519 อายุ 90 ปี เขาก็ได้รับรางวัลอาซาฮี ชั้นหนึ่งและเสียชีวิตในปีนั้นเอง
โปรเฟสเซอร์ ฮิเดจึกึ ยากิ และโปรเฟสเซอร์ ชินทาโร อูดะ ต่างล่วงลับไปแล้ว เหลือแต่ผลงานอันยิ่งใหญ่ให้กับคนรุ่นหลัง
แล้วพวกเราเล่า วันหนึ่งที่เราจะต้องจากโลกนี้ไปแล้วเราจะเหลืออะไรไว้เป็นสมบัติของโลก
(รางวัลอาซาฮี เป็นรางวัลที่จัดขึ้นโดยหนังสือพิมพ์อาซาฮีชิมบุน ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น คล้ายๆ กับรางวัลโนเบลสำหรับคนญี่ปุ่นโดยเฉพาะ)
รูปภาพสายอากาศยากิ