สายอากาศยากิแบบอีลีเมนต์ไม่สัมผัสบูม (หมายถึงใช้ฉนวนคั่น)
มีข้อดีคือ ความยาวทางไฟฟ้าของอีลีเมนต์ไม่ขึ้นกับเส้นผ่านศูนย์กลางของบูมแต่มีข้อแย้งเหมือนกันว่าฉนวนนั้นอาจเสื่อมสภาพเนื่องจากอายุ และเนื่องจากตากแดดตากฝน จึงอาจทำให้มีปัญหาในอนาคตได้
สายอากาศยากิแบบยึดอีลีเมนต์โดยให้สัมผัสกับบูมโดยตรงหรือเสียบเข้าตัวบูม
มีข้อดีคือลดปัญหาการสะสมไฟฟ้าสถิตในตัวอีลีเมนต์ เพราะสัมผัสกับตัวบูม และยึดง่าย
ข้อเสียอยู่ที่ถ้ายึดไม่แน่นดีพอ ในระยะยาวอาจหลวมทำให้คุณสมบัติทางไฟฟ้าเปลี่ยนแปลงไป และอาจเกิดการสึกหรอหรือขึ้นสนิมได้ถ้ามีการสัมผัสกันระหว่างโลหะต่างชนิดกัน ทางแก้ไขที่ถาวรหน่อย คือใช้วิธีเชื่อมอีลีเมนต์เข้ากับตัวบูมเลย นอกจากนั้น การสัมผัสหรือเสียบเข้าตัวบูมทำให้ความยาวทางไฟฟ้าขึ้นกับเส้นผ่านศูนย์กลางของบูมด้วย กล่าวคือความยาวของอีลีเมนต์ต้องยาวขึ้นกว่าแบบไม่สัมผัสตัวบูม มีบางเสียงเล่าลือกันว่าสายอากาศที่อีลีเมนต์ไม่สัมผัสบูมจะมีค่า SWR เปลี่ยนไปเมื่อฝนตก แต่จากผลการทดสอบโดยลองเทน้ำลงบนสายอากาศยากิ 2 ต้น ที่ออกแบบมาวิธีเดียวกัน ต้นหนึ่งให้อีลีเมนต์สัมผัสบูม อีกต้นหนึ่งให้อีลีเมนต์ไม่สัมผัสบูม ผลปรากฎว่าความยาวทางไฟฟ้าเปลี่ยนไปพอๆ กัน ซึ่งมีผลให้ความถี่เรโซแนนซ์เปลี่ยน SWR เปลี่ยนไป รวมถึงคุณสมบัติอื่นๆ ด้านการแพร่กระจายคลื่นและด้านไฟฟ้า สาเหตุหลักที่ทำให้พฤติกรรมของยากิเปลี่ยนไปในระหว่างฝนตก คือ การทำงานของยากินั้นไวต่อเส้นผ่านศูนย์กลางของอีลีเมนต์ เมื่อมีน้ำหรือน้ำแข็งมาเกาะที่ตัวอีลีเมนต์ ความยาวทางไฟฟ้าจะเปลี่ยนไปยิ่งเป็นสายอากาศที่มีอัตราขยายสูงมาก และยิ่งทำงานใกล้ขอบเขตของแถบความถี่เท่าไรก้ยิ่งพบการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น
|